การใช้เสียง นอกจากคนคอยส่งเสียงไล่แล้ว ยังมีเครื่องมือที่ใช้ไล่นก-หนู เช่น การทำเกราะไล่นกพลังลมนำไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้ การเอาไม้ใส่ข้างในกระป๋องหรือปี๊บที่มีลักษณะคล้ายที่แขวนคอสัตว์ไปแขวนไว้ที่ทุ่งนา เมื่อมีลมพัดจะเกิดเสียงดัง หรือการนำไม้ไผ่มาผ่าแล้วอาจใช้เชือกดึงหรือใช้มือง้างแล้วปล่อยให้กระทบกันเกิดเสียงดัง เป็นต้น การใช้ปริมาณน้ำ เมื่อมีเพลี้ยมารบกวนจะปล่อยน้ำให้ขังไว้ในนาจนกว่าเพลี้ยจะหมดไป ถ้าเกิดโรคใบไหม้จะงดให้น้ำในแปลงที่เกิดโรค เพราะถ้างดน้ำแล้วจะทำให้โรคใบไหม้หายไป ต้นข้าวจะกลับมาดีเหมือนเดิม การใช้เครื่องดักสัตว์ เครื่องมือดักสัตว์ที่ใช้มีหลายชนิด เช่น เกิ้งหรือแร้ว ด้วงหรือหล้วง ขะตั๊ม ขุบ ฯลฯ การใช้กลิ่น การเผาเศษไม้เพื่อให้มีกลิ่นควันไฟ หรือการเอากระดูกหมูหรึ่งมาเผา นอกจากข้าวจะงามแล้วยังใช้ป้องกันแมลงได้ด้วย หรือเอาหน่อไม้ดองจำนวนเล็กน้อยวางกับพื้นดินเป็นจุดๆ ที่มด ปลวกกินหรือเจาะต้นข้าว การใช้ควัน ถ้ามีมด เพลี้ยหรือบั่ว หรือแมลงอื่นๆ จะก่อกองไฟหลายๆ กองให้มีควัน แมลงเหล่านั้นจะค่อยๆ หายไปเอง นอกจากนั้นยังมีวิธีการอื่นๆ อีก เช่น การจุดตะเกียงเจ้าพายุในตอนกลางคืน แล้วเอาใบตองกล้วยมาทาน้ำมันมัดแขวนไว้ แมลงก็จะบินมาติดที่ใบตองนั้น บางคนใช้ไม้เสียบหนูให้ตายแล้วเอาไปปักที่นาหรือตามทางที่หนูเดิน หนูจะไม่มารบกวนอีก การทำหุ่นไล่กา การเอากระดาษหลากสีหรือแถบเทปคลาสเซทผูกกับเชือกไปแขวนไว้ เมื่อลมพัดกระดาษหรือแถบเทปจะปลิวไปมา นกจะบินหนีไป เป็นต้น