บันทึกความรู้
"ถาม-ตอบ ประเด็นจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
โดย วิทยากร รศ.ดร.อัญชลี ศรีจำเริญ
ณ ห้อง AG 1104 วันที่ 26 มิถุนายน 2557 เวลา 1300-1400 น.
กิจกรรมการให้ความรู้ด้านจรรยาบรรณการวิจัยแก่คณาจารย์ ตามตัวบ่งชี้ 4.1 ในคู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ระดับอุมศึกษา พ.ศ.2553 ของ สกอ. ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นสามารถสืบค้นได้จากเว็ปไซต์ของกองบริหารงานวิจัย คือ http://www.research.nu.ac.th/th/service/indexFund1-step.php
บันทึกความรู้
1. การขออนุมัติการทำวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มีความจำเป็นในการประกอบเพื่อขอแหล่งทุนการวิจัย เช่น แหล่งทุนวช. ทั้งนี้ ในแบบฟอร์มโครงการวิจัยจากงบประมาณรายได้ของมหาวิทยาลัยมีช่องให้ทำเครื่องหมายว่าโครงการวิจัยนั้นๆเกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือไม่ สามารถดาวน์โลดแบบฟอร์มต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของกองบริหารงานวิจัย
2. โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอกชนต้องเสียค่าธรรมเนียม เช่น โครงการวิจัยแบบเต็มรูป (Full board protocol) โครงการละ 10,000 บาท แบบเร่งรัด (Expedited protocol) โครงการละ 5,000 บาท และแบบยกเว้น (Exemption protocol) โครงการละ 2,500 บาท (ตามประกาศมหาวิทยาลัยนเรศวร วันที่ 13 มิถุนายน 2557)
3. โครงการวิจัยที่ขอการรับรองครั้งแรก ผู้วิจัยอาจจะคิดว่ามีเอกสารจำนวนมาก แต่ครั้งต่อไปผู้วิจัยจะรู้สึกคุ้นเคย ซึ่งจะปรับแก้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ในเวบไซต์มีตัวอย่างการเขียนเอกสารทุกชนิดให้เป็นแนวทาง และมีคู่มือการยื่นขอรับรองจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์
4. งานวิจัยของภาควิชา ทส. น่าจะอยู่ในข่ายโครงการแบบยกเว้น หรืออย่างมากไม่น่าเกินโครงการแบบเร่งรัด ทั้งนี้ ในเวบไซต์มีคู่มือแจ้งการแบ่งชนิดโครงการวิจัย
5. เมื่อผู้วิจัยดำเนินการวิจัยตามเอกสารที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ หากเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย มหาวิทยาลัยโดยอธิการบดีรับทราบและจะดำเนินการตามขั้นตอนพร้อมๆกับผู้วิจัย แต่ถ้าโครงการใดไม่ดำเนินการผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยไม่ได้รับทราบในเบื้องต้น ดังนั้นผู้วิจัยต้องรับผิดชอบเอง
6. ประกาศมหาวิทยาลัยนเรศวร กำหนดให้นิสิตทุกระดับต้องดำเนินการขอนุมัติการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตีพิมพ์ในวารสารที่มีกฏข้อบังคับให้ยื่นใบอนุมัติจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์
7. การขอการรับรองการวิจัยในมนุษย์ ถ้าได้รับการ approve วันไหนจะประทับตราวันนั้น ไม่สามารถให้วันที่ย้อนหลังเมื่องานวิจัยได้เสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ในกรณีที่วารสารใดขอใบอนุมัติการทำวิจัยในมนุษย์ งานวิจัยนี้จะไม่สามารถตีพิมพ์ได้
8. การดำเนินการขอการรับรองฯสามารถยื่นได้ตลอดเวลา โครงการวิจัยแบบยกเว้นและเร่งรัดนั้นผู้อ่านจะต้องอ่านให้เสร็จภายใน 5 วันทำการ รวมแล้วคาดว่าจะส่งคืนผู้วิจัยประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์
9. โครงการวิจัยที่ไม่ปิดโครงการใน 1 ปี ตามที่กำหนดในแผนการวิจัยจะต้องขอต่ออายุโครงการด้วย และจะได้รับการปกป้องตั้งแต่วันที่ยื่นขอ อนึ่ง เมื่อเสร็จสิ้นโครงการต้องกรอกแบบฟอร์ม ปิดโครงการ ด้วย
10. มีความจำเป็นของการเข้ารับการอบรมการวิจัยในมนุษย์สำหรับคณาจารย์และนิสิตทุกระดับ ก่อนการเสนอโครงการวิจัย/วิทยานิพนธ์ สามารถเข้าอบรมที่กำหนดตารางการอบรมไว้ที่เว็บไซต์ของกองบริหารงานวิจัย หรืออาจจะทำบันทึกข้อความเสนอขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการวิจัยในมนุษย์มาจัดอบรมให้ ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ Standard Operating Procedures (SOP) ที่แจ้งไว้ในเวบไซต์ของจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
11. เมื่อคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ขอให้ปรับแก้โครงการวิจัย จะต้องดำเนินการในทุกข้อ ทั้งนี้ ถ้าผู้วิจัยไม่เห็นด้วยข้อใด ก็สามารถให้เหตุผลพร้อมแสดงหลักฐาน ต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ นอกจากนี้ ผู้วิจัยไม่ควรแก้ไขส่วนอื่นในเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องในการปรับแก้ (ซึ่งอาจจะอ่อนไหว/เสี่ยงต่ออาสาสมัครมากกว่าเดิม) เพราะผู้ตรวจประเมินคนเดิมจะอ่านทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง
12. หลังจากโครงการวิจัยได้รับรับรองจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ หากผู้วิจัยต้องการจะปรับแก้ขั้นตอนการดำเนินงานวิจัยใดๆ ควรกรอกในแบบฟอร์ม Amendment และยื่นให้คณะกรรมการฯพิจารณารับรองอีกครั้ง ก่อนที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ
***************************
ผู้บันทึกข้อมูล: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภิรมย์ อ่อนเส็ง
26 มิถุนายน 2557