ประวัติภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาคควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ฯ จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปีการศึกษา 2539 โดยการยุบรวมภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มีภารกิจในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ กับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ ที่มีภารกิจในการสนับสนุนการศึกษาในกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไปด้านวิทยาศาสตร์ กายภาพ และชีวภาพ และส่งเสริมการผลิตบัณฑิตสายศึกษาศาสตร์ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ ในระยะแรกของการก่อตั้งได้มีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อขยายภารกิจการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ เพิ่มเติมจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์ ที่เปิดมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2525 เมื่อครั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปีการศึกษา 2539 และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปีการศึกษา 2540 รวมถึงได้มีการพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 2 ห้อง ห้องปฏิบัติการระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 1 ห้อง และห้องปฏิบัติการแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ 2 ห้อง รวมถึงห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านภูมิสารสนเทศและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 5 ห้อง โดยมีการบรรจุครุภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอนและการวิจัยทั้งที่โอนย้ายมาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ และครุภัณฑ์รายการใหม่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง พ.ศ.2544-2548 ภาควิชาฯ ได้มีการประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเพื่อพัฒนาและเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (หลักสูตรนานาชาติ) และหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ปี พ.ศ.2552 ภาควิชาฯ เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2555 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ปี พ.ศ.2558 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปี พ.ศ.2560 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับจากวันนี้ ต้องเผชิญกับกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคม เป็นกระบวนทัศน์ที่มีมุมมองกว้างขึ้นและละเอียดขึ้น ในภาคสังคมทุกส่วนมีประเด็นหลากหลายขึ้นและมีมิติด้านวิทยาการรอบด้านขึ้น ดังนั้นภารกิจของภาควิชาฯ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม ด้วยการยกระดับงานวิจัยในกรอบวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ ภูมิสารสนเทศศาสตร์ ทรัพยากรศาสตร์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม ให้เป็นงานวิจัยที่มีสารัตถะที่ลึกซึ้ง สามารถรองรับการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่อยู่ในระบการจัดการศึกษาของภาควิชาฯ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรในส่วนงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ที่เป็นระบบบริการวิชาการ ให้เป็นผู้มีพุทธิปัญญา มีสัมมาทักษะ และมีคุณธรรมจริยธรรม
|