Untitled Document
images_04
 

 

 

สรุป "ผลของความแปรปรวนของระดับอุณหภูมิและความชื้นที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและคุณภาพสารอาหารของถั่วเหลืองของประเทศไทยบางพันธุ์” โดย ผศ.ดร. กณิตา ธนเจริญชณภาส

สรุป การจัดการความรู้การวิจัย
"ผลของความแปรปรวนของระดับอุณหภูมิและความชื้นที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและคุณภาพสารอาหารของถั่วเหลืองของประเทศไทยบางพันธุ์”
โดย ผศ.ดร. กณิตา ธนเจริญชณภาส

              ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะของภูมิอากาศ เช่นรูปแบบการเพิ่มหรือลดระดับอุณหภูมิในบรรยากาศ หรือรูปแบบความแปรปรวนในบรรยากาศเป็นปัญหาในระดับโลก ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกในอนาคตในระดับ 1-4 ?C ในอนาคตและจนนำไปสู่การลดผลผลิตและลดคุณค่าทางอาหาร ของพืชเกษตรต่างๆ ได้มีการทำนายไว้ว่าผลผลิตของโลกในแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะลดลงประมาณ 4-50% หรือ อาจเกิน 50%ในสิ้นศตวรรษนี้ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และขึ้นอยู่กับความทนทานและความอ่อนไหวของธัญพืชแต่ละชนิด ซึ่งมีการศึกษาพบว่าถั่วเหลือง(Glycine max (L.) Merrill) เป็นธัญพืชที่สำคัญของโลกแต่พบว่ามีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง
               ด้วยปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงได้ทำการวิจัยปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ที่นิยมปลูกในภาคเหนือ คือ พันธุ์เชียงใหม่ 60 และนำถั่วเหลืองพันธุ์นี้ปลูกภายใต้สภาวะอุณหภูมิและความชื้นให้แตกต่างกัน 4 ระดับตั้งแต่ระดับอุณหภูมิที่ต่ำกว่าระดับปกติในฤดูกาลปลูก (26 ? 2.9 ๐C ) จนถึงระดับสูงสุดนั่นคือสูงกว่าระดับอุณหภูมิปกติในฤดูกาลปลูก (37 ? 2.2 ๐C ) และ บางสถานการณ์ให้ระดับความชื้นร่วมกับระดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อถึงระยะฤดูกาลเก็บเกี่ยวได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณผลผลิต และคุณภาพสารอาหารบางประการ พบผลการศึกษาที่น่าสนใจ คือ พบว่าจำนวนฝักต่อต้นของถั่วเหลืองที่ปลูกภายใต้สภาวะอากาศแปรปรวน (อุณหภูมิต่ำ อุณหภูมิสูง อุณหภูมิสูงร่วมกับความชื้นสูง) มีจำนวนผลผลิตลดลงทุกสภาวะ เกือบถึง 50 % อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ปลูกภายใต้สภาวะอุณหภูมิเทียบเท่าระดับธรรมชาติในช่วงกาลปลูก และผลการศึกษาสอดคล้องกับการสังเกตในปัจจัยจำนวนเมล็ดทั้งหมด ต่อ ต้น ซึ่งพบว่าผลการศึกษาเป็นไปในลักษณะเดียวกันแต่พบว่าระดับเปอร์เซ็นต์ของการลดลงนั้นค่อนข้างชัดเจนกว่า นั่นคือเกินระดับ 50 % เมื่อเปรียบเทียบกับ กลุ่มที่ปลูกภายใต้สภาวะอุณหภูมิเทียบเท่าระดับธรรมชาติในช่วงกาลปลูก
               การทดสอบหาขนาดของเมล็ดทางอ้อมโดยการชั่งน้ำหนักถั่วเหลือง 100 เมล็ด พบว่าเมล็ดถั่วเหลืองที่อยู่ภายใต้สภาวะการปลูกที่ระดับอุณหภูมิสูงสุด (สูงกว่าระดับธรรมชาติ) มีขนาดเล็กกว่าเมล็ดถั่วเหลืองที่ปลูกภายใต้สภาวะอื่นๆ เนื่องจากมีค่าน้ำหนัก 100 เมล็ดน้อยกว่าอย่างชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าการปลูกถั่วเหลืองภายใต้สภาวะอากาศสูงนอกจากส่งผลต่อการลดผลผลิตแล้วยังมีผลต่อการลดขนาดของเมล็ดอีกเช่นกัน
               ผลการศึกษาที่น่าสนใจในสารอาหารประเภทไขมันและกรดไขมันของถั่วเหลือง พบว่าระดับไขมัน (lipid:gram) กลับเพิ่มขึ้นในกลุ่มถั่วเหลืองที่ปลูกภายใต้สภาวะอุณหภูมิต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสอดคล้องกับการเพิ่มระดับกรดไขมันทั้งประเภทอิ่มตัว (Stearic, Myristic และ Palmitic) และไม่อิ่มตัว (Oleic, Linoleic และ Linolenic) ทุกชนิดในกลุ่มถั่วเหลืองที่ปลูกภายใต้สภาวะอุณหภูมิต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้นพบว่ากรดไขมันอิ่มตัวประเภท Stearic เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกันภายใต้การปลูกในภาวะอุณหภูมิสูง ส่วนสภาวะความชื้นสูงทำให้กรดไขมันประเภท Palmitic เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
              ที่น่าสนใจคือมีเพียงสภาวะอุณหภูมิสูงเท่านั้นที่ทำให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เช่น Oleic ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
              ดังนั้นผลการศึกษาสรุปได้ว่าหากในอนาคตประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะอุณหภูมิที่ผิดปกติกว่าปัจจุบัน อาจมีบางพื้นที่อากาศเย็นมาก บางพื้นที่อากาศร้อนมากว่าปัจจุบันมากย่อมมีแนวโน้มว่าผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศจะลดลงเป็นอย่างมากเกินระดับ 50 % ในอนาคต และทำให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์คือ Oleic ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม กรดไขมันอีกหลายประเภทกลับเพิ่มขึ้นภายใต้สภาวะอากาศแปรปรวน ซึ่งจะต้องศึกษาต่อไปว่าระดับกรดอะมิโนมีการตอบสนองอย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการหาทางรับมือกับปัญหานี้ต่อไปในอนาคต

***************************

นำเสนอในที่ประชุมภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558

 


Copyright 2011 All right and reserves Department of Natural Resourse and Environment
Faculty of Agriculture Natural Resources and Environment, Naresuan University,Tel. 055-962-757, Fax. 055-962-750