Untitled Document
images_04
 

 

 

สรุป "การประยุกต์ใช้ระบบฟิล์มชีวภาพแบบรีเวอร์สในการบำบัดน้ำเสีย” โดย ดร. ชาญยุทธ กฤตสุนันท์กุล

สรุป การจัดการความรู้การวิจัย
"การประยุกต์ใช้ระบบฟิล์มชีวภาพแบบรีเวอร์สในการบำบัดน้ำเสีย”
โดย ดร. ชาญยุทธ กฤตสุนันท์กุล

              การบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ เป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียโดยใช้กระบวนการทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ในการกำจัดสิ่งเจือปนในน้ำเสีย โดยเฉพาะสารคาร์บอนอินทรีย์ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส โดยสารเหล่านี้จะถูกใช้เป็นอาหารและแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ ที่อยู่ในถังปฏิกรณ์เพื่อการเจริญเติบโต ภายใต้สภาวะที่มี/ไม่มีการเติมอากาศ ส่งผลให้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมีค่าความสกปรกลดลง
              ระบบบำบัดน้ำเสียแบบฟิล์มชีวภาพ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียรูปแบบหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย โดยจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ในการบำบัดน้ำเสีย จะเจริญเติบโตอยู่ในรูปของชั้นฟิล์มที่ยึดติดอยู่บนผิวของตัวกลางที่บรรจุอยู่ในถังปฏิกรณ์ ซึ่งภายใต้สภาวะที่มีการเติมอากาศนั้น การแลกเปลี่ยนออกซิเจนละลายน้ำที่อยู่ในชั้นของน้ำจะค่อยๆซึมผ่านเข้าสู่ชั้นฟิล์มชีวภาพจากด้านนอกเข้าสู่ด้านในของชั้นฟิล์ม
              สำหรับระบบฟิล์มชีวภาพแบบรีเวอร์สนั้น จะมีการทำงานที่แต่งต่างจากระบบบำบัดน้ำเสียแบบฟิล์มชีวภาพทั่วไปตรงที่ ตัวกลางที่ใช้จะเป็นวัสดุจำพวก ท่อเส้นใยกลวงชนิดที่ผิวของตัวกลางสามารถให้อากาศไหลผ่านได้ เมื่อทำการอัดอากาศหรือออกซิเจนเข้าสู่ท่อเส้นใยกลวงที่มีจุลินทรีย์ยึดเกาะอยู่บริเวณผิวด้านนอกของท่อ ออกซิเจนจากด้านในจะถูกถ่ายเทให้กับจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บริเวณผิวของตัวกลางที่อยู่ด้านในก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ซึมผ่านออกมายังด้านนอกของชั้นฟิล์ม ในลักษณะเช่นนี้ทำให้ออกซิเจนถูกนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบฟิล์มชีวภาพแบบทั่วไป

***************************

นำเสนอในที่ประชุมภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558

 


Copyright 2011 All right and reserves Department of Natural Resourse and Environment
Faculty of Agriculture Natural Resources and Environment, Naresuan University,Tel. 055-962-757, Fax. 055-962-750