Untitled Document
images_04
 

 

 

การจัดการความรู้การวิจัย โครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ห้องประชุมเกษตรศาสตร์ 3 (AG 1104)

การจัดการความรู้การวิจัย
โครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555
ณ ห้องประชุมเกษตรศาสตร์ 3 (AG 1104)

**********************************************

              ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ฯ มีความประสงค์จะจัดการความรู้จากผลงานวิจัยเพื่อ ครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.ชัชวาลย์ จันทรวิจิตร มานำเสนอผลการศึกษาโครงการ “การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์” เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ระหว่างเวลาประมาณ 14:40-15:00 น. ซึ่งความรู้ที่ได้มีดังต่อไปนี้ คือ

  1. โครงการโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ (10 MW) ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะได้รับข้อยกเว้นตามกฎหมาย ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าแบบนี้จำนวนมาก แต่ในอนาคตน่าจะเกิดได้ยากเพราะมีผลกระทบมากและมีการคัดค้านจากประชาชนในหลายพื้นที่
  2. โรงงานไฟฟ้าแบบนี้คุ้มการลงทุนเพราะรัฐสนับสนุนโดยให้เงินอุดหนุน  ในปี 2560 ตั้งเป้าหมายกำลังผลิต 3,700 เมกกะวัตต์ ซึ่งในปัจจุบันมีกำลังผลิตประมาณ 1,600 เมกกะวัตต์ มีนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน “1 อำเภอ 1 โรงไฟฟ้าชีวมวล” แต่อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพด้อยกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  3. โครงการนี้เป็นความต้องการของกรมอนามัย เพื่อให้เป็นงานวิจัยเชิงนโยบายสาธารณะ วัตถุประสงค์ คือ เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์ และเพื่อเสนอแนวทางป้องกันและควบคุมผลกระทบ
  4. วิธีการศึกษาได้แก่ทำการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ ฝุ่นรวม (TSP), ฝุ่นขนาด 10 ไมครอน (PM10), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), โอโซน (O3) และ เสียง (Noise) การศึกษาทางระบาดวิทยา เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสุขภาพกับการอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า และวิเคราะห์ความเสี่ยงและเสนอมาตรการแก้ไขและมีการสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับชาวบ้านเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ปัญหา และการมีส่วนร่วมในการจัดการ
  5. พื้นที่ศึกษา 2 แห่ง คือ โรงสีไฟไทยเสรี บ้านถนนงาม ต.คลองขลุง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร และโรงสีไฟจิตรเสริมไทย ชุมชนแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ต. ตะพานหิน อ.ตะพานหิน จ. พิจิตร
  6. ผลการศึกษา พบว่า ความเข้มข้นของฝุ่นรวม จากสถานีตรวจวัดที่ตั้งไว้รอบ ๆ โรงงาน ต่ำกว่า เกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเท่ากับ 0.330 ไมโครกรัม/ลบ.ม./ วัน ส่วนความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็ก 10ไมครอน ก็ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 0.120 ไมโครกรัม/ลบ.ม./ วัน แต่ความเข้มข้นของฝุ่นตกในชุมชนที่สถานีต่าง ๆ มีค่าระหว่าง 313.79 – 464.15 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่เท่ากับ 150-350 ไมโครกรัม/ลบ.ม./ วัน
  7. ผลการศึกษา พบว่า ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตรวจพบอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยพบค่าความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 1.2-6.9 ส่วนในพันล้านส่วน ต่ำกว่ามาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ไม่เกิน 300 ส่วนในพันล้านส่วน
  8. ผลการศึกษา พบว่า ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีค่าต่ำมากเมื่อเทียบกับมาตรฐาน ระดับที่พบอยู่ระหว่าง 1-35 ส่วนในพันล้านส่วน ในขณะที่มาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่กำหนดให้ไม่เกิน 170 ส่วนในพันล้านส่วน
  9. ผลการศึกษา พบว่า ก๊าซโอโซนมีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 3-75 ส่วนในพันล้านส่วน ต่ำกว่ามาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดไม่เกิน 100 ส่วนในพันล้านส่วน
  10. ผลการศึกษา พบว่า ระดับเสียงดังเฉลี่ย 24 ชั่วโมง (Leq-24 hrs) ตำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ 70 เดซิเบลเอ (70dBA)
  11. ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมที่ได้อาจมีค่าต่ำความเป็นจริง เนื่องจากโรงไฟฟ้าไม่ให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลและอาจใช้วิธีการบิดเบือนผลกระทบด้วยวิธีการต่าง ๆ
  12. ส่วนการสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับชาวบ้านพื้นที่รอบ ๆ โรงงาน ในประเด็น
    1) ทัศนคติของประชาชนต่อโรงไฟฟ้าฯ พบว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการมีโรงไฟฟ้า แต่มองว่าตัวเองไม่มีทางเลือก ไม่สามารถทำอะไรได้ และมองว่าโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างความเจริญให้ชุมชนมากนัก แต่ทำให้มีความเสี่ยงต่อผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ใช้น้ำฝนไม่ได้ ทำให้เกิดความเครียด และทำให้การปลูกพืชไม่ได้ดี ทำให้น้ำเสียจับปลาไม่ได้ การตั้งโรงไฟฟ้าไม่มีประโยชน์โดยตรงกับชาวบ้าน  เพราะใช้แรงงานนอกพื้นที่ เช่น แรงงานพม่า เพราะค่าแรงงานถูก
    2) ความกังวลปัญหาที่พบ พบว่า มีปัญหา ปัญหาสุขภาพจากฝุ่นละออง ฝุ่นนอกจากจะทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ทำให้บ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้สกปรกแล้ว ยังมีปัญหาฝุ่นเข้าตา ทำให้แสบตา ตาอักเสบ โดยเฉพาะในขณะขับรถ ทำให้เกิดผื่นคัน โดยเฉพาะกับเด็ก  และทำให้รู้สึกเครียด เป็นกังวลว่าอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบเกิดในวงกว้างตามทิศทางลม ปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็น  โรงไฟฟ้าทำให้เกิดกลิ่นเหม็น สร้างความเดือดร้อนรำคาญกับประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า กลิ่นที่ประชาชนได้รับหลายลักษณะ มีทั้งกลิ่นเหม็นไหม้ กลิ่นข้าวหมัก และกลิ่นน้ำมัน บางครั้งกลิ่นสามารถไปได้ไกลถึง 1-2 กิโลเมตร และปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดัง  มีบางช่วงที่จะทำให้เกิดเสียงดังมาก คล้ายเสียงเป่าลม คาดว่าจะเป็นการเป่าล้างระบบไอน้ำ
    3) การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการปัญหา พบว่า
    - ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมต่อการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น  ไม่มีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม  ไม่มีการให้ข้อมูลกับชุมชน ประชาชนยังคงต้องการมีส่วนร่วม
    - เคยร้องเรียนปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งต่อเทศบาล จังหวัด และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสีย และฝุ่นละออง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขแม้ถึงปัจจุบัน
    - ชาวบ้านเชื่อว่าหน่วยงานรัฐและเจ้าของโรงไฟฟ้าไม่จริงใจที่จะจัดการปัญหา และเจ้าของโรงไฟฟ้าเป็นผู้ที่มีอิทธิพล จึงคิดว่าไม่สามารถทำอะไรได้

บันทึกความรู้ เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2555


Copyright 2011 All right and reserves Department of Natural Resourse and Environment
Faculty of Agriculture Natural Resources and Environment, Naresuan University,Tel. 055-962-757, Fax. 055-962-750