Untitled Document
images_04
 

 

 

สรุป การจัดการความรู้การวิจัย โครงการผลกระทบของการเพิ่มาระดับอุณหภูมิต่อผลผลิตและลักษณะทางพันธุกรรมของถั่วเหลือง โดย ผศ.ดร.กณิตา ธนเจริญชณภาส

สรุป การจัดการความรู้การวิจัย
โครงการผลกระทบของการเพิ่มาระดับอุณหภูมิต่อผลผลิตและลักษณะทางพันธุกรรมของถั่วเหลือง
โดย ผศ.ดร.กณิตา ธนเจริญชณภาส

                เป็นที่ทราบกันว่าปัญหาโลกร้อน หรือ สภาวะอากาศมีระดับอุณหภูมิสูงขึ้นนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และระดับของปัญหามีความรุนแรงมากขึ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกเป็นอย่างมาก หนึ่งในปัญหาสำคัญที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกกำลังให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ คือ ปัญหาความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก เนื่องจากพบว่าผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของปัญหาโลกร้อนส่งผลต่อการลดผลผลิตของพืชอาหารของโลก อาทิเช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด  และถั่วเหลือง ในพื้นทีต่างๆทั่วโลก

          ประเทศไทยเองเราพบว่าระดับอุณหภูมิสูงขึ้นเช่นเดียวกันและมีงานวิจัยโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์หลายรูปแบบ บ่งชี้ถึงสถานภาพและความเป็นไปได้ของระดับปัญหาที่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคตดังนั้นก็น่าสนใจว่าผลกระทบนี้จะมีผลอย่างไรต่อพืชอาหารสำคัญของประเทศไทย และเมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้ทำการวิจัยเพื่อจำลองสถานการณ์สภาวะระดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติในฤดูกาลปลูกถั่วเหลือง ประมาณ 1-4 องศาเซลเซียส และศึกษาผลที่เกิดขึ้นต่อผลผลิต คุณค่าทางสารอาหารและการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่มีต่อถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ซึ่งเป็นที่นิยมปลูกมากในภาคเหนือ ซึ่งในการทดลองนี้ใช้ระยะเวลาตลอดฤดูกาลปลูกถั่วเหลืองประมาณ 3 เดือนจนถึงระยะเก็บเกี่ยว

               ผลการศึกษาน่าสนใจมากเนื่องจากพบว่าระดับอุณหภูมิสูงนั้นส่งผลดีต่อการกระตุ้นความสูงให้เพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งเห็นผลชัดมากเมื่อถั่วเหลืองมีอายุน้อยนั่นคือในช่วงระยะ 1 เดือนแรก และยังเพิ่มจำนวนเมล็ดรวมต่อต้นด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาเพียงเท่านี้เราคงดีใจว่าโลกร้อน หรือระดับอุณหภูมิสูงส่งผลดีต่อเราใช่หรือไม่?? แต่เมื่อนำเมล็ดไปวิเคราะห์คุณค่าสารอาหารที่สำคัญมากถั่วเหลือง คือโปรตีน กลับพบว่าโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดในถั่วเหลืองลดลงอย่างชัดเจนซึ่งนี่คงไม่ใช่ผลดีแน่สำหรับผู้บริโภค เนื่องจากจุดประสงค์ของการบริโภคถั่วเหลืองของมนุษย์คือความต้องการคุณค่าของโปรตีนที่สำคัญในถั่วเหลืองนั่นเอง

               ดังนั้นต่อไปนี้หากเรายังปล่อยให้ปัญหาโลกร้อนดำเนินต่อไป เป็นไปได้ว่ามนุษย์ในอนาคตคงได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพสารอาหารต่ำอย่างแน่นอน ซึ่งมิอาจคาดเดาได้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นในพืชอาหารชนิดใดอีกบ้าง

***************************

นำเสนอในที่ประชุมภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556

 


Copyright 2011 All right and reserves Department of Natural Resourse and Environment
Faculty of Agriculture Natural Resources and Environment, Naresuan University,Tel. 055-962-757, Fax. 055-962-750