การจัดการความรู้ โครงการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
21-22 ธันวาคม 2554 ณ ห้องประชุมเกษตรศาสตร์ 3 (AG 1104)
วัตถุประสงค์ของโครงการมีหลายประการ เช่น เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิตในสาขาวิชาต่างๆ
ให้มีความสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆ ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อสามารถการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ รองรับการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ และเพื่อส่งเสริมและเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนนิสิตและคณาจารย์ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับประชาคมอาเซียน รวมทั้งเพื่อจัดให้มีการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ให้สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนนิสิตในกลุ่มประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์ฯ ได้กำหนดให้ภาควิชาต่าง ๆ นำเสนอรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 นี้ ในโครงการฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากรจำนวน 4 ท่าน คือ 1. ดร.อมร โอวาทวรกิจ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 2. ผศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินทร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.รศ.ดร.แมรี่ สารวิทย์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ 4. Assoc. Prof. Michael Francis Barbetti
ซึ่งความรู้ที่ได้รับ ได้แก่
- อาจารย์ผู้สอนต้องอธิบายด้วยศัพท์ง่าย ๆ ที่นิสิตสามารถเข้าใจได้ และความพูดให้ช้าลงแต่ชัดเจน ห้ามหัวเราะใส่เขาเมื่อเขาพูดผิด สิ่งที่อาจารย์ได้รับประการหนึ่งคือ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีต่อเนื่อง
- พลัง (Power) ของอาจารย์จะมีมากเกินไปเมื่อยืนอยู่หน้าห้อง หากเราเดินเข้าไปหานิสิตเขาจะกล้าพูดมากขึ้น
- อาจารย์ที่ต้องการเพิ่มพูนประสบการณ์การสอนจากอาจารย์ท่านอื่น สามารถเข้าชั้นเรียนเพื่อสังเกตการณ์การสอนได้ แต่ต้องตกลงกันล่วงหน้าก่อน
- ต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual) ครูที่ดีจะต้องสามารถรับรู้ได้และตอบสนองหรือปรับปรุงพฤติกรรมของพวกเขาได้
- จำนวนนิสิตในชั้นเรียนไม่ควรเกิน 80 คน โดยจำนวน 60 คน น่าจะดีที่สุด
- แผนการสอน ควรแนบไฟล์รายละเอียดต่างๆ ที่นิสิตสามารถเปิดดูได้
- ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายการจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 นิสิตจะมีพัฒนาการทักษะภาษาอังกฤษดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่านิสิตที่รับเข้ามาก็มีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่ดีนัก เช่น คะแนนภาษาอังกฤษ ไม่เกินร้อยละ 30 เท่านั้นเอง ในชั้นปีที่ 1 ควรแบ่งเวลาสอนเป็นภาษาอังกฤษ 45 นาที ส่วนอีก 15 นาที ให้สรุปด้วยภาษาไทย ซึ่งนิสิตชั้นปีที่ 1 นี้ จะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ในการปรับตัว
- เนื้อหาการเรียนการสอนต้องกระชับ เพราะการสื่อด้วยภาษาอังกฤษทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าการสอนด้วยภาษาไทย ดังนั้นอาจารย์จะต้องเพิ่มเวลาในการเตรียมการสอนมากขึ้นเพราะต้องเตรียมการด้านเนื้อหา การสื่อด้วยภาษาอังกฤษ และด้านการประเมินผล
- การสอบให้ใช้ข้อสอบอัตนัยที่ให้เขียนตอบสั้น ๆ สำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 สามารถเขียนตอบเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็ได้ แต่ถึงแม้ว่าตอบด้วยภาษาไทยได้ถูกต้องก็จะไม่ได้คะแนนเต็ม ส่วนชั้นปีอื่น ๆ หากมีภาษาไทยแม้คำเดียวในกระดาษคำตอบจะได้คะแนน 0 ในข้อนั้น
- ควรมีการแนะนำเว็บลิ้งค์ไปยังวิดีโอ หรือแอนนิเมชั่น (Animation) ต่าง ๆ เพื่อการฝึกภาษาและสร้างความเข้าใจเนื้อหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิดีโอที่มี Subtitle จะมีประโยชน์มาก
- ควรจัดทำ e-learning ของรายวิชา ห้อง Self-Access เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนิสิต สำหรับการจัดทำ e-learning หากต้องการแอนนิเมชั่นมาประกอบอาจจะมีปัญหาด้านลิขสิทธิ์ ดังนั้นควรใช้การทำ Web link จะดีกว่า
- อนุโลมให้นิสิตสื่อความหมายระหว่างกันด้วยภาษาไทยได้ แต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเมื่อมาติดต่อกับภาควิชาและกับอาจารย์เสมอ ยกเว้นการสอบถามนอกชั้นเรียน
- อาจารย์ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก เมื่อนิสิตไม่เข้าใจจะต้องแปลภาษาอังกฤษเป็นอังกฤษให้ ใช้ภาษากาย (Body Language) หรือการวาดรูปให้ดู
- การสอนโดยใช้ Power point หากนิสิตได้ไปแล้วอาจจะไม่ค่อยเข้าชั้นเรียน การแก้ปัญหาคือการสอนบางส่วนผ่านเครื่องฉายแผ่นทึบเป็นระยะ ๆ ประกอบด้วย หรือแจกเอกสารที่มีเนื้อหาไม่ครบหรือเนื้อหาที่ขาดจุดสำคัญไป
- ควรมีนิสิตต่างชาติในชั้นเรียนด้วยอย่างน้อยร้อยละ 10-15 เพื่อสร้างบรรยากาศการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งนิสิตต่างชาติย่านอาเซียนจะดีกว่าทั้งด้านการพูด ฟัง และเขียน แต่ก็มีจุดอ่อนที่ส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยดีนัก
- นิสิตไทยจะมีปัญหาในการพูดภาษาอังกฤษ น่าจะมาจากกลัว เสียหน้า และปัญหาใหญ่ที่สุดคือ Vocabulary การจัดการเรียนการสอนควรคละนิสิตอ่อนและเก่งภาษาในกลุ่มเดียวกันแล้วนิสิตจะช่วยเหลือกันได้ดีมาก
- เทคนิคการสอน Cooperative Learning โดยการแบ่งกลุ่มนักเรียน 4-6 กลุ่ม แล้วให้นิสิตแต่ละคนไปศึกษาจากชุดการเรียนที่แตกต่างกัน จากนั้นให้กลับมารวมกันที่กลุ่มเดิม (Jigsaw)
- กรณีที่มีนิสิตบางคนที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมาก อาจจะทำให้นิสิตอื่นท้อถอย
- ปัญหาสำคัญที่สุด คือ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะถ้านอกห้องเรียนมีแต่การใช้ภาษาไทยจะไม่ส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ died at the door
- นิสิตส่วนใหญ่ที่เรียนวิทยาศาสตร์จากหนังสือแปล จึงมีปัญหาในด้านนิยาม (Definition) ของคำศัพท์ต่างๆ ซึ่งจะมีความสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจ (Understanding)
- ควรมีกิจกรรมส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เช่น การศึกษาดูงานที่หน่วยงานที่นำเสนอด้วยภาษาอังกฤษ การศึกษาภาคสนาม การปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการ หรือ การเข้าชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มี MOU ร่วมกัน เป็นต้น
- สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินทร (SIT) กำหนดให้นิสิตต้องผ่าน TOFLE 500 คะแนน จึงจะจบการศึกษา สถาบันฯ จะต้องดำเนินการทำความเข้าใจวิธีการสอบ นำข้อสอบแบบ Unofficial TOFLE มาให้ทดลองสอบก่อน
- บัณฑิตหลักสูตรนานาชาติเมื่อเข้าทำงานบางแห่งจะได้เงินเดือนเพิ่มพิเศษ แต่กรณีที่นิสิตหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์จะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว) ทำให้ต้องมาติวเป็นภาษาไทยเพิ่มเติมให้ด้วย
รศ.ดร.สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน ประธานคณะกรรมการ ได้สรุปดังนี้
- ในระยะเริ่มต้นจะมีแรงจูงใจหลายประการ เช่น การเพิ่มใน Transcript (in English) ในรายวิชาการเรียนด้วยภาษาอังกฤษ การให้นิสิตกลุ่มผลการเรียนดีจะได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ และค่าตอบแทนพิเศษสำหรับอาจารย์ผู้สอน
- ขอให้ทุกภาควิชาเสนอ Module Outline Form: MOF ภายในวันที่ 31 มกราคม 2555 เพื่อจะได้ประกาศให้นิสิตได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้า
- ศูนย์ภาษา (NULC) จะช่วยสนับสนุน เช่น การสอบ Placement Test และการเตรียมความพร้อมให้นิสิตช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2555
- รายวิชาเดียวกันอาจจะมีการเรียนการสอนที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือสำหรับการสอนด้วยภาษาไทยและด้วยภาษาอังกฤษ โดยการแยกห้องเรียน
- รายวิชาที่จะสอนด้วยภาษาอังกฤษ คือ วิชาเอกเลือก แต่ไม่ใช่วิชาสัมมนา
- ให้พิจารณารายวิชาระดับปริญญาตรี และโท ส่วนปริญญาเอกไม่ให้ดำเนินการเพราะมีรายวิชาน้อย