การบริหารและพัฒนาของคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดเอาไว้ว่าจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่จะ มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม ในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีภารกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นที่ตั้งหลัก และแปลงเป็นนโยบายเพื่อให้สามารถดำเนินการได้เป็นขั้นตอน สามารถตรวจสอบ ปรับปรุง และแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ประกอบด้วย
1. นโยบายด้านการพัฒนาการเรียนการสอน
2. นโยบายพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม
3. นโยบายพัฒนาการบริการวิชาการแก่สังคม
4. นโยบายพัฒนาการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
5. นโยบายพัฒนาการบริหารจัดการ
6. นโยบายพัฒนาการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
ภายในนโยบายพัฒนาการบริหารจัดการของคณะเกษตรศาสตร์ฯ (https://ww2.agi.nu.ac.th/?page_id=2254) ซึ่งเป็นนโยบายข้อที่ 5 ได้กำหนดกลยุทธ์ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งในการสนับสนุนการพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาภายในคณะฯ อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ การส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์และบุคลากรทุกระดับมีจิตสำนึกในการประกันคุณภาพการศึกษา และการส่งเสริมและสนับสนุนหลักสูตร ภาควิชา และคณะฯ พัฒนาคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ
สำหรับภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรนำเข้าระบบคิดเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจากสหราชอาณาจักรที่มีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากการเล็งเห็นถึงประโยชน์ของระบบการตรวจสอบไปกลับของกระบวนการจัดทำและตรวจประเมินรายงานการประเมินตนเองที่มีต่อการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและครอบคลุม เพื่อสนองตอบต่อความสำคัญดังกล่าว ภาควิชาฯ จึงได้จัดสรรงบประมาณรายได้ไว้สำหรับการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของงบประมาณรายได้ที่ได้รับการจัดจัดทุกปีการศึกษา อีกทั้ง ภาควิชาฯ ยังได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการอ้างอิงในรายงานการประเมินตนเอง เพื่อให้สามารถใช้วิเคราะห์ สังเคราะห์ และอ้างอิงได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
ปีการศึกษา 2563 มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ปรับเปลี่ยนระบบการเตรียมการจัดการเรียนรู้และการรายงานผลการจัดการเรียนรู้ใหม่ เพื่อเตรียมการรองรับการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUNQA: ASEAN University Network Quality Assurance) ซึ่งหลักสูตรเดิมทั้งหมด 7 หลักสูตรของภาควิชาฯ ไม่มีสิ่งสำคัญสำหรับการประเมินตนเองในรูปแบบใหม่ คือ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (ELOs: Expected Learning Outcomes) ดังนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.กณิตา ธนเจริญชณภาส รองคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ ฝ่ายวิชาการ ร่วมกับรองศาสตราจารย์พัฒนา ราชวงศ์ หัวหน้าภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกันจัดการเรียนรู้ให้กับอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ฯ ให้มีความสามารถในการจัดทำผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตรทั้งหมดขึ้นมา และอาจารย์ประจำรายวิชาต่างๆ ได้จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แทนการทำ มคอ.3 และจำทำรายงานผลการจัดการเรียนรู้แทนการทำ มคอ.5 อัพโหลดลงในระบบรายงานผลการจัดการเรียนรู้ได้อย่างพร้อมเพรียง
|